- เข้าร่วม
- 23 ส.ค. 2017
- ข้อความ
- 22
- กระทู้ ผู้เขียน
- #1
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงโรคระบาดต่าง ๆ นั้นมีการกลายพันธุ์และมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากมาย บางโรคที่เกิดขึ้นใหม่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่บางโรคนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและยังรักษาไม่หาย ดังนั้นการป้องกันโรคจึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการรักษาซึ่งก็ทำได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่ร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันน้อย และไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่
วัคซีนเด็กสำคัญแค่ไหน?
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทารกแรกเกิดไปจนถึง 1 ปีนั้น จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอในการต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ หากได้รับเชื้อโรคอันตรายในช่วงนี้ เช่น โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ บาดทะยัก ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กวัยนี้ได้ดีที่สุดก็คือการฉีดวัคซีน โดยเอาแบคทีเรียหรือเชื้อโรคนั้น ๆ มาทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือทำให้ตาย ก่อนที่จะฉีดเข้าไปในตัวเด็ก เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน ขึ้นมาสู้กับโรค หากอนาคตเด็กได้รับเชื้อโรคนั้น ๆ ร่างกายก็จะสามารถกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้นได้ ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ การฉีดวัคซีนก็คือ การทำให้ร่างกายของเด็กได้รู้จักเชื้อโรคแต่ละชนิดก่อนที่จะมีการติดเชื้อจริงนั่นเอง
วัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ
1. วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine : HBV)
ช่วยป้องกันโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส Hepatitis B หากรับเชื้อไวรัสเข้าไปจะทำให้เกิดโรคทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
หมายเหตุ : การฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้โดยกำหนดให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน และเข็มสุดท้ายเมื่ออายุครบ 6 เดือน
2. วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria-Tetanus-Pertussis Vaccine: DTP) เป็นวัคซีนรวมที่ช่วยป้องกันโรคดังต่อไปนี้....
2.1. โรคคอตีบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วย ซึ่งทำให้เกิดลำคออักเสบรุนแรง ไข้สูง เกิดเป็นพังผืดอุดกั้น ทางเดินหายใจ ทำให้หายใจ และกลืนลำบากอาจทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้
2.2.โรคบาดทะยัก เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยักที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ขากรรไกรแข็ง คอแข็งชักเกร็ง หายใจลำบาก อาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้
2.3. โรคไอกรน หรือโรคไอร้อยวัน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดหนึ่ง ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วย ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ มีอาการไอมาก ไอต่อเนื่อง จนหายใจลำบากในเด็กเล็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หยุดหายใจไอจนซี่โครงหัก ส่งผลให้เสียชีวิตได้
หมายเหตุ : วัคซีนเด็กรวมทั้ง 3 ชนิดนี้ควรฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน, 4-6 ปี และ 11-12 ปี ตามลำดับ
3.วัคซีนโปลิโอ (Polio Vaccine)
โปลิโอเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เมื่อติดเชื้อแล้ว จะส่งผลต่อสมอง และไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโปลิโอ แต่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน โดยวัคซีนโปลิโอมีทั้งแบบฉีด และแบบหยอด สามารถใช้แทนกันได้ตามความเห็นของแพทย์
หมายเหตุ : ในปัจจุบันนิยมใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดซึ่งเป็นวัคซีนเด็กชนิดเข็มรวม 5 โรค ประกอบด้วย วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ ทำให้สามารถลดจำนวนเข็มวัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในแต่ละครั้งลงได้ โดยกำหนดให้ฉีด 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี ตามลำดับ
4. วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (Hib Vaccine)
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Haemophilus influenza type b เรียกย่อว่า Hib) ทำให้มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปวดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
หมายเหตุ : วัคซีนสำหรับเด็กชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในวัคซีนรวม 5 โรค ฉีดเมื่ออายุ 2,4,6 เดือน และฉีดกระตุ้นอายุ 1 ปี 6 เดือน
5. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis vaccine : JE)
วัคซีนไข้สมองอักเสบ ใช้ป้องกันเชื้อเจอีไวรัส (Japanese Encephalitis virus : JEV) ซึ่งเป็นสาเหตุกว่า 80% ของไข้สมองอักเสบในประเทศไทยผู้ติดเชื้อจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้ ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
หมายเหตุ : วัคซีนสำหรับเด็กชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในวัคซีนรวม 5 โรค ฉีดเมื่ออายุ 2,4,6 เดือน และฉีดกระตุ้นอายุ 1 ปี 6 เดือน
6.วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม(Measles-mumps-rubella vaccine : MMR) เป็นวัคซีนรวมที่ช่วยป้องกันโรค ดังต่อไปนี้
6.1. โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles มีอาการผื่นแดง มีไข้ ตาแดง เกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน และสมองอักเสบ สามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม
6.2. โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัส Rubella ทำให้ผู้ติดเชื้อ ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และใบหูโต ตามมาด้วยอาการผื่น หัดเยอรมันจะรุนแรงเมื่อติดในสตรีมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
6.3. โรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส Mumps เข้าไปทำให้ต่อมน้ำลาย อักเสบ บางรายอาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย แม้คางทูม อาจไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น อัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ ข้ออักเสบ ระบบประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
การปฏิบัติตัวสำหรับการรับวัคซีนเด็ก
• ควรนำสมุดบันทึกวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง
• ไม่ควรรับวัคซีนขณะที่มีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยกเว้นเป็นหวัด ท้องเสียโดยไม่มีไข้สามารถรับ วัคซีนได้
• หลังรับวัคซีนเด็กควรอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เพื่อดูปฏิกิริยาแพ้ยา
• หากเคยฉีดยาแล้วมีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร เช่น มีอาการแพ้ไข่แบบรุนแรง กรุณาแจ้งกุมารแพทย์ หรือพยาบาลก่อนฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก
ขอขอบคุณข้อมูล
พญ.พิมแพร เพ่งพิศ
กุมารเวชศาสตร์ โรคติดเชื้อ
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
https://www.nonthavej.co.th/Article-vaccine-for-children.php
พญ.พิมแพร เพ่งพิศ
กุมารเวชศาสตร์ โรคติดเชื้อ
ศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช
https://www.nonthavej.co.th/Article-vaccine-for-children.php